Start up คือ อะไร ? ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนายตัวเอง

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมามีความฝันอยากที่จะเป็นนายตัวเอง อยากที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ยิ่งในช่วงที่ผ่านมามีซีรีส์สัญชาติเกาหลีอย่างเรื่อง “Start up” ที่หลายคนดูแล้ว ก็เริ่มมีแรงบันดาลใจ จุดประกายความฝันที่จะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองบ้างเหมือนกับตัวละครในเรื่อง ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่าธุรกิจ Start up คือ อะไร เป็นยังไง แตกต่างจากธุรกิจปกติอย่างไร แล้วเขาหาแหล่งทุนจากไหนมาเริ่มกัน

Start up คือ

Start up คืออะไร

Start up (สตาร์ทอัพ) เป็นธุรกิจที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แต่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ถูกออกแบบให้มีการทำซ้ำได้โดยง่าย (Repeatable) และขยายกิจการได้ง่ายในอนาคต (Scalable) สามารถสร้างรายได้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งลักษณะของธุรกิจสตาร์ทอัพก็มีอยู่หลายประเภทเช่น ธุรกิจที่เกี่ยกับอีคอมเมิร์ซซึ่งให้บริการเกี่ยวกับช่องทางการซื้อขายออนไลน์

Startup แตกต่างจาก SME ยังไง

Startup แตกต่างจาก SME

 

ความแตกต่างระหว่าง Startup กับ SME ต่างกันความรวดเร็วของการเติบโต สตาร์ทอัพ คือ ธุรกิจขนาดเล็กที่มีการก้าวกระโดดไวกว่า เน้นธุรกิจการบริการ โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  แต่ SME จะเป็นการเติบโตตามจำนวนเงินลงทุน หากต้องการเติบโตก็ต้องมองหาทำเลเพื่อขยายสาขา จ้างคนเพิ่ม มักเป็นธุรกิจที่เน้นด้านการผลิต จำหน่ายขนาดย่อม เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนในการลงทุนต่ำ ที่สำคัญด้วยความที่สตาร์ทอัพเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากกว่าธุรกิจแบบ SME

 

แหล่งเงินทุนของ start up คือ ที่ไหน

แหล่งเงินทุนของ start up คือ

การทำธุรกิจต่อให้จะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ ธุรกิจรูปแบบไหน แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากในการเริ่มต้นและขาดไม่ได้เลยคือ “เงินทุน” หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่เริ่มจากขนาดเล็ก ๆ แบบนี้เขาหาเงินทุนกันมาจากไหน เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพจัดได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ยากที่จะกู้ธนาคารได้แบบธุรกิจ SME แต่ในทุกขั้นของการก้าวกระโดดล้วนแต่ต้องใช้เงินทุนทั้งสิ้น ซึ่งเราก็จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่าปกติแล้วผู้ที่จะเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น เขามีแหล่งเงินทุนจากไหนกันบ้าง

 

1. BOOTSTRAP

BOOTSTRAP เป็นแหล่งเงินทุนจากตัวเอง ครอบครัว หรืออาจจะเป็นเงินทุนจากผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-founder) แต่ในปัจจุบันสตาร์ทอัพรุ่นใหม่กำลังมองว่าวิธีการนี้ล้าหลัง เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องดึงเงินของตัวเองออกมาเพื่อทำธุรกิจ ในเมื่อสมัยนี้มีแหล่งเงินทุนอื่น ๆ อีกมากมาย แต่หากสตาร์ทอัพคนไหนมีกำลังพร้อมที่จะเริ่มด้วยตัวเอง หรือคนรอบข้างพร้อมที่จะซัปพอร์ตก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแค่ให้มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ

 

2. ANGEL INVESTOR

ANGEL INVESTOR มีชื่อเรียกว่า “นักลงทุนนางฟ้า” เป็นนักลงทุนอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก เพราะนักลงทุนอิสระจะใช้เงินตัวเองมาร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ โดยส่วนมากนักลงทุนเหล่านี้จะมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ละคนก็จะจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนบางส่วนมาเพื่อลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ

 

3. INCUBATOR / ACCELERATOR

INCUBATOR / ACCELERATOR เป็นหน่วยงานบ่มเพาะหรือเร่งการเติบโตสำหรับธุรกิจ คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด การเงิน กฎหมาย สถานที่ทำงาน รวมทั้งหาพันธมิตรและแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อให้ธุรกิจเติบโตขึ้นและยังสามารถดึงดูดนักธุรกิจ  อื่น ๆ จากบริษัทใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในสตาร์ทอัพด้วย

 

4. CROWDFUNDING

CROWDFUNDING เป็นการระดมทุนจากสาธารณะ จากนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่สถาบันทางการเงิน เพื่อมาช่วยโครงการหรือธุรกิจต่าง ๆ โดยจะระดมทุนผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Crowdfunding ซึ่งเป็นช่องทางที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น เจ้าของ  สตาร์ทอัพจะต้องขายไอเดียออกมาให้ได้ วิธีนี้จึงเสมือนเป็นการช่วยทดสอบว่าธุรกิจของเราน่าสนใจแค่ไหนที่จะดึงแหล่งทุนสาธารณะนี้ได้ ตัว Crowdfunding นั้นมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นการ ระดมทุนแบบขอบริจาค (Donation) ไปจนถึงการระดมทุนแลกกับสิทธิประโยชน์บางอย่าง (Rewards) 

 

5. VENTURE CAPITAL (VC) 

คือธุรกิจการร่วมลงทุน เป็นการที่กลุ่มนักลงทุนรูปแบบองค์กรหรือนักลงทุนสถาบัน นำเงินมาลงทุน เข้าร่วมถือหุ้นกับสตาร์ทอัพ ซึ่งลักษณะเป็นการเน้นการลงทุนในรอบหลัง ๆ ช่วงธุรกิจกำลังเติบโตจึงต้องการเงินทุนจำนวนมาก เมื่อบริษัทสตาร์ทอัพนั้น ๆ มีกำไรแล้ว ก็จะแบ่งกำไรตามสัดส่วนของการถือหุ้น

 

คุณสมบัติผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

คุณสมบัติ start up

1. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า 

การจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพได้ต้องมีแรงขับเคลื่อนจากใจตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังจะทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร และที่สำคัญต้องมีความสุขในสิ่งที่กำลังทำ ไม่ใช่ทำเพราะเป็นแฟชั่น เพราะการที่ทำออกมาด้วยความปรารถนาตัวเองจะทำให้มีไฟ มีพลังในการทำงาน มีแรงที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ไม่หวั่นเมื่อต้องเจออุปสรรค เพราะstart up คือธุรกิจที่ความเสี่ยงสูงเป็นอย่างมาก เช่น หากเป็นคนรักสุขภาพ ก็อาจเลือกทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับอาหารคลีนเพื่อสุขภาพ

2. มีความคิดสร้างสรรค์ 

ธุรกิจสตาร์ทอัพ มักเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดไอเดียที่สดใหม่ในการสร้างธุรกิจ ตลอดจนเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ นอกจากนี้ความสร้างสรรค์ก็จะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ง่ายขึ้นด้วย

3. มีความเป็นนักกลยุทธ์

เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญของผู้ประกอบการที่ต้องคิด วิเคราะห์ หาแนวทางที่ดีที่สุดในการดำเนินธุรกิจ เพราะสำหรับการทำธุรกิจการวางแผนในเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากการคิดวิเคราะห์แล้ว ต้องสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไปประเมินเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และการปรับปรุง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้

4. มีความเป็นผู้นำและกล้าตัดสินใจ

การที่บริษัทจะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น จะต้องมีเจ้าของหรือผู้ประกอบการที่มีภาวะความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจเมื่อพบเจอกับปัญหา เพราะความเป็นผู้นำจะเป็นตัวสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา

5. มีความกล้าเสี่ยง

ธุรกิจstart up คือธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา และยังไม่สามารถบอกได้ว่าธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ดังนั้นคนที่จะเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพนี้ต้องมีความกล้าเสี่ยง กล้าทุ่มเท เพื่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

Press ESC to close