ค่าแฟรนไชส์ มีอะไรบ้าง ? พร้อมทริคก่อนเริ่มทำธุรกิจ

แฟรนไชส์เป็นหนึ่งในตัวเลือกมาแรงที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจน่าสนใจได้มากมาย และไม่ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ศูนย์ด้วยตัวเอง เพราะเป็นการรับสินค้าหรือบริการที่มีแบรนด์อยู่แล้วมาพัฒนาต่อเป็นของตน เป็นการลงทุนที่น่าสนใจไม่เบาเลยค่ะ แต่ก่อนเริ่มทำต้องรู้ก่อนว่า ค่าแฟรนไชส์ มีอะไรบ้าง ? ไปดูกันเลยค่ะ

 

แฟรนไชส์คืออะไร ?

แฟรนไชส์หรือ Franchise คือการที่ธุรกิจหนึ่งได้ลงทุนเพื่อขายสินค้าหรือให้บริการจนได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จากนั้นผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ (แฟรนไชส์ซอร์) จึงตกลงกับฝ่ายที่ต้องการซื้อสิทธิ์ (แฟรนไชส์ซี) ในการดำเนินธุรกิจหรือที่เรียกว่า ‘การซื้อแฟรนไชส์’ โดยอนุญาตให้ทำธุรกิจภายใต้ตรา/เครื่องหมายการค้า มีรูปแบบสินค้าและบริการแบบเดียวกัน และอาจมีข้อตกลงเรื่องระยะเวลาหรือสถานที่เพิ่มเติมค่ะ

 

ค่าแฟรนไชส์ มีอะไรบ้าง?

การทำธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องเริ่มทำเองตั้งแต่ต้นและไม่ต้องใช้เงินมากเท่าการริเริ่มทำธุรกิจเองก็จริง แต่ก็ควรคำนวณค่าใช้จ่ายให้รอบคอบก่อนด้วยนะ แล้วต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง ? มาดูกัน

 

     1. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Franchise Fee)

การเปิดร้านแฟรนไชส์นั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของธุรกิจ เพื่อซื้อสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า รูปแบบสินค้าและบริการ รวมถึงความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ทางเจ้าของธุรกิจอาจมีการจัดอบรมหรือให้ความรู้เพิ่มเติม โดยค่าธรรมเนียมแรกเข้านั้น จะจ่ายเพียงครั้งเดียว  และจำนวณเงินที่ต้องจ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละกิจการค่ะ

ค่าธรรมเนียมแรกเข้า

 

     2. ค่าธรรมเนียมรายงวด (Royalty Fee)

           ค่าแฟรนไชส์ ที่สำคัญอีกอย่างคือ ค่าธรรมเนียมรายงวด (Royalty Fee) ครอบคลุมถึงค่าการตลาด (Marketing Fee) ด้วยค่ะ

           ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเป็นรายเดือนหรือรายปีแล้วแต่การตกลงกัน ต้องจ่ายประมาณ 3 – 6% ของรายได้ โดยคำนวณจากยอดขาย กำไร แล้วทางเจ้าของธุรกิจจะนำเงินส่วนนี้มาบริหารจัดการให้แฟรนไชส์ทุกสาขามีมาตรฐานแบบเดียวกัน

          นอกจากนี้เจ้าของธุรกิจจะเรียกเก็บค่าการตลาดประมาณ 2 – 3%  เพื่อเป็นค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจะมีการอัปเดตวิธีการทำธุรกิจเพื่อกระตุ้นยอดขายอยู่เสมอ

ค่าธรรมเนียมรายงวด

 

     3. ต้นทุนการบริหารจัดการร้าน

การซื้อแฟรนไชส์มาจากเจ้าของก็คือการซื้อมาบริหารเอง ดังนั้น ค่าใช้จ่ายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ยังต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ซื้อแฟรนไชส์อยู่ดีค่ะ เราต้องคำนวณค่าแฟรนไชส์ส่วนนี้จากทำเลหรือขนาดของร้าน ซึ่งควรมีเงินสำรองในส่วนนี้ เนื่องจากเดือนแรก ๆ ค่าใช้จ่ายไม่คงที่อาจคำนวณผิดพลาดได้ค่ะ

ต้นทุนการบริหารจัดการร้าน

 

     4. ต้นทุนการตกแต่งร้าน

การเปิดแฟรนไชส์แน่นอนว่าเราจะต้องมีหน้าร้านตามรูปแบบที่ฝ่ายเจ้าของธุรกิจตกลงไว้ ซึ่งประกอบไปด้วยค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ตกแต่งร้านใหม่ ส่วนนี้จะต้องคุยกับแฟรนไชส์ซอร์ให้ละเอียดว่าค่าออกแบบ ค่าตกแต่งร้านนั้น รวมอยู่ในค่าธรรมเนียมแรกเข้าแล้วหรือไม่ หากไม่รวมทางผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเองค่ะ

ต้นทุนการตกแต่งร้าน

 

ทริคการเปิดแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับมือใหม่หัดทำธุรกิจคงกังวลไม่น้อย เราจึงรวบรวม 3 เทคนิค รวมถึงเป็นข้อควรระวังให้ผู้เริ่มทำแฟรนไชส์ได้ลองศึกษาเพื่อให้ทำธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จมากขึ้น

ทำแฟรนไชส์ให้สำเร็จ

  • วิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน

ก่อนเลือกซื้อแฟรนไชส์ใด ควรคำนึงถึงชื่อเสียงของแบรนด์ ความยากง่ายของระบบการทำงาน ความนิยมของลูกค้า ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจว่าหากลงทุนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ค่ะ

 

  • ได้รับการสนับสนุนของเจ้าของธุรกิจ

การได้รับแรงสนับสนุนจากเจ้าของธุรกิจเป็นอีกสิ่งที่ใช้พิจารณาในการซื้อแฟรนไชส์ได้ เจ้าของแบรนด์ที่ดีจะไม่ใช่แค่เรียกเก็บค่าแฟรนไชส์แล้วทางใครทางมัน แต่ต้องมาวางแผนทำธุรกิจร่วมกันในฐานะพาร์ทเนอร์ เช่น มีการให้ความรู้เรื่องธุรกิจ ช่วยวิเคราะห์ทำเล และอื่น ๆ

 

  • เลือกแบรนด์ที่มีคุณภาพ

ธุรกิจที่มีการจัดการที่เป็นระบบ อบรมพนักงานดี ใช้วัตถุดิบ/อุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน จัดการด้านการตลาดตามหลัก Marketing Mix 7ps ก็สื่อให้เห็นว่าแบรนด์นี้มีคุณภาพ และมักสามารถรักษาลูกค้ากลุ่มเดิมและดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ หากซื้อแฟรนไชส์จากธุรกิจลักษณะนี้ก็อาจช่วยเรื่องฐานลูกค้าได้ค่ะ

 

          ค่าแฟรนไชส์ มีรายละเอียดที่ต้องจ่ายมากกว่าที่คิด ทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้า, ค่าธรรมเนียมรายงวด, ต้นทุนการบริหารจัดการร้าน และต้นทุนการตกแต่งร้าน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนหนึ่งเลยนะ ดังนั้น ใครอยากเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี เพื่อลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

pattanakit.net, thaismescenter.com, quickservice.co.th, makrohorecaacademy.com

Press ESC to close