บ่อยครั้งที่นึกถึงอาหารเพื่อสุขภาพ สิ่งแรกที่คนเรามักจะนึกถึงก็คือ ‘ผัก’ แต่การกินพืชผักในปัจจุบัน เราได้รับแค่คุณประโยชน์จริง ๆ หรือเปล่า ? รายงานผลสำรวจจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้มีการจัดอันดับประเทศที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตร การใช้ยาฆ่าแมลงประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก และการใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับที่ 4 ของโลก จากผลการสำรวจทุกปียังพบสารเคมีต้องห้ามที่ตกค้างในผักอีกด้วย
งั้นผักก็คงไม่ใช่ Safe Zone ของอาหารเพื่อสุขภาพอีกแล้วละสิ ? อย่าพึ่งคิดแบบนั้น ถ้าคุณยังไม่รู้จักกับ ‘ผักออแกนิค’ อีกทางเลือกในการกินผักแบบสบายใจ พร้อมทั้งวิธีปลูกผักออแกนิคง่าย ๆ ไปดูกันเลย !
รู้จักกับความออแกนิค
คอนเซปต์ของคำว่า ‘ออแกนิค’ คือ ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่ได้จากธรรมชาติ ในกระบวนการผลิตและแปรรูปจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี จึงปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ผักออแกนิค คือ ผักที่มีกระบวนการเพาะปลูกแบบธรรมชาติ 100% หรืออีกชื่อคือ ‘เกษตรอินทรีย์’ ซึ่งในการปลูกผักออแกนิคจะไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ เลย ให้ผักได้เติบโตตามธรรมชาติไม่มีการใช้สารเร่ง เรียกว่าต้องพิถีพิถันและต้องใส่ใจมาก ๆ ทำให้การกินผักออแกนิคดีต่อทั้งสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยกระบวนการเพาะปลูกที่ใช้ธรรมชาติ 100% เลยทำให้ต้นทุนของผักออแกนิคนั้นสูง เช่น ผักสลัดออแกนิคที่เราเจอตามท้องตลาด รวมถึงการกินคลีนก็กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนี้ การที่เราปลูกผักออแกนิคกินเองจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ประหยัดเงิน และไม่เสี่ยงกับสารเคมีที่ปนเปื้อนในผักตามท้องตลาด
ทำความเข้าใจ
บางคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า “ผักออแกนิคกับไฮโดรโปนิกส์มีความแตกต่างกันอย่างไร ?” ควรเลือกกินผักชนิดไหนมากกว่ากัน เพราะผักไฮโดรโปนิกส์ก็มีราคาที่ถูกกว่าผักออแกนิค แบบนี้เลือกกินผักไฮโดรโปนิกส์แทนได้ไหม เรามาทำความเข้าใจความแตกต่างของผักออแกนิคและไฮโดรโปนิกส์กันดีกว่า
- ผักออแกนิค หรือผักแบบเกษตรอินทรีย์ มีกระบวนการเพาะปลูกที่ได้รับการควบคุมให้ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในทุก ๆ ขั้นตอน อีกทั้งปุ๋ยที่จะนำมาใส่ให้ผักออแกนิคก็จะต้องเป็นปุ๋ยธรรมชาติ 100% ระยะเวลาเก็บเกี่ยวตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเร่งโต
- ผักไฮโดรโปนิกส์ หรือผักแบบไร้ดิน มีกระบวนการเพาะปลูกโดยการใช้น้ำแทนดิน ผักที่ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์จะใช้ปุ๋ยที่สกัดมาจากสารเคมีและให้ปุ๋ยผ่านทางน้ำ ดังนั้นสารอาหารที่ผักแบบไฮโดรโปนิกส์ได้ ก็ได้มาจากปุ๋ยเคมีนั้นเอง
คงจะเห็นแล้วว่าผักทั้ง 2 ชนิด มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งวิธีการปลูกและแหล่งสารอาหารที่พืชจะได้รับ เช่น ดินกับน้ำ อินทรีย์กับอนินทรีย์ สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงสารเคมีที่ปนเปื้อนในผัก ผักไฮโดรโปนิกส์ก็ไม่สามารถแทนที่ผักออแกนิคได้นั่นเอง
ผักออแกนิคแบบไทย ๆ
ผักที่แนะนำก็จะเป็นพืชผักสวนครัวของไทยที่ใช้วิธีการปลูกแบบออร์แกนิก ถึงแม้ว่าผักเหล่านี้จะมีราคาถูกมากในท้องตลาดก็ตาม แต่ผักเหล่านี้ก็เป็นส่วนประกอบหลัก ๆ ในอาหารไทยที่เรากินกันเกือบทุกวัน หากต้องการหลีกเลี่ยงสารเคมี จึงควรปลูกผักที่มักจะกินเป็นประจำนั่นเอง
-
กะเพรา
ส่วนผสมสำคัญในอาหารสามัญประจำชาติ อย่างผัดกะเพรา ผักที่มีกลิ่นหอมและสามารถช่วยดับคาวเนื้อสัตว์ได้ จึงถือว่าเป็นผักที่มักจะได้กินบ่อย ๆ และอยู่ในอาหารไทยหลายเมนู
-
ต้นหอม
หนึ่งในผักโรยที่มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ อยู่ได้ทั้งในอาหารและขนม ต้นหอมเป็นหนึ่งวัตถุดิบที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเมนูไหนถ้าโรยต้นหอมก็จะเพิ่มความน่ากินให้เมนูนั้น จึงเป็นผักอีกหนึ่งชนิดที่ควรปลูกเอาไว้
-
ผักชี
ผักของไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงเกาหลี และญี่ปุ่น ถูกเอาไปทำเป็นทั้งของคาวและของหวาน ด้วยความนิยมที่มากขนาดนี้ เลยส่งผลให้ผักชีมีราคาสูงขึ้นจากแต่ก่อนมาก ร้านอาหารหลาย ๆ ร้านเลยต้องลดปริมาณการใช้ผักชีลง ถ้าเราปลูกกินเองได้ ก็ทำให้ไม่ต้องไปสู้กับราคาตลาด ทั้งประหยัดและสุขภาพดี
-
พริก
คนไทยกินเผ็ด พริกจึงเป็นผักที่ต้องเจอแทบจะทุกเมนูไม่มากก็น้อย ซึ่งบางคนก็นิยมกินพริกสดเป็นผักแนม ดังนั้นเลยต้องกินพริกที่ปลอดสารเคมีมากที่สุด
-
มะนาว
เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม รสเปรี้ยวในอาหารไทยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ได้มาจากมะนาว ถึงแม้ในการปรุงอาหารจะใช้เพียงแค่น้ำมะนาวเท่านั้น แต่ถ้าหากได้รับการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ยังไงก็มีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนจากเปลือกมาสู่น้ำอยู่ดี
วิธีปลูกผักออแกนิคง่าย ๆ
1. การปรุงดิน
ขั้นตอนการเตรียมดินถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ ในการปลูกผัก เพราะดินคือหัวใจสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช โดยมีสูตรการปรุงดินง่าย ๆ ภายในเวลา 1 เดือน ดังนี้
- ผสมปุ๋ย > ปุ๋ยคอก 2 กิโลกรัม + ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 1 กิโลกรัม + แกลบดิบ 1 กิโลกรัม นำส่วนผสมทั้ง 3 ส่วนคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดิน
- หมักดิน > นำน้ำหมักชีวภาพ 20 มิลลิลิตร + น้ำ 10 ลิตร รดลงไปบนดินที่ผสมกับปุ๋ยและคลุมดินเอาไว้ระหว่างหมัก
- รดน้ำหมัก > ใช้ช่วงเวลาในการหมักดิน 1 เดือน โดยรดน้ำวันละ 2 ครั้ง และรดน้ำหมักทุก ๆ 7 วัน
หลังจากการปรุงดินตามขั้นตอนนี้ ดินของคุณจะร่วนซุยขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสารอาหารให้แก่ดิน ทำให้ได้ดินดี มีคุณภาพ และพร้อมแก่การเพาะปลูก
2. เตรียมปุ๋ยธรรมชาติ
ในการปลูกต้นไม้ ‘ปุ๋ย’ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะจะเป็นส่วนที่เติมสารอาหารที่จำเป็นให้แก่ต้นไม้ที่ปลูก ส่วนปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกผักออแกนิค จะต้องปราศจากสารเคมี 100% จึงนิยมใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งการทำปุ๋ยหมักชีวภาพก็สามารถทำเองได้ง่าย ๆ และเก็บเอาไว้ใช้ได้นาน
- เตรียมภาชนะ > เตรียมภาชนะที่มีลักษณะก้นลึก ความลึกประมาณ 3 ตารางฟุต ใส่ใบไม้แห้งและโรยปุ๋ยคอกลงไปที่ก้นถัง
- หมักปุ๋ย > ใส่เศษอาหารหรือผัก + โรยปุ๋ยคอกทับ + โรยใบไม้แห้งลงไป และหาอะไรมาทับเอาไว้ให้แน่น หมักเอาไว้ 1 เดือน ก็สามารถเอาปุ๋ยจากก้นถังออกมาใช้ได้แล้ว
การทำปุ๋ยหมักชีวภาพเอาไว้ใช้ นอกจากจะปลอดสารเคมีแล้ว ยังเป็นสิ่งที่เสริมให้ผักออแกนิคเติบโตออกมาอย่างสวยงาม เพราะมีทั้งจุลินทรีย์ คาร์บอน และไนโตรเจนในปริมาณที่เหมาะสม
3. เตรียมภาชนะในการปลูก
ในขั้นตอนนี้สามารถเลือกภาชนะได้ตามที่สะดวกเลย แต่หากเป็นมือใหม่หัดปลูก แนะนำให้ปลูกในกระบะสำหรับปลูกผัก เพราะสามารถควบคุมดูแลผักที่ปลูกเอาไว้ได้ง่ายและสะดวก
4. เอาผักลงดิน
เมื่อดินพร้อม ปุ๋ยพร้อม กระถางพร้อม เราก็เริ่มเอาเมล็ดผักลงดินได้เลย ในการปลูกผักควรเว้นระยะห่างของต้นไม้เอาไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผักแย่งน้ำและสารอาหารกัน หรือเบียดกันจนบังแสงแดดนั้นเอง
- เตรียมดิน > เอาดินที่ปรุงไว้ใส่ในกระบะสำหรับปลูกผัก
- เจาะหลุม > เจาะหลุมลงดินลึกประมาณ 4 นิ้ว โดยแต่ละหลุมต้องเว้นระยะห่างกันไว้พอประมาณ
- เอาเมล็ดลงดิน > ฝังเมล็ดผักลงหลุมที่เจาะเอาไว้ หลุมละ 1-2 เมล็ด
- กลบดิน > หลังจากเอาเมล็ดผักลงดิน กลบดินข้างบนทับบาง ๆ ไม่ต้องกดหน้าดินให้แน่น
- ดูแลจนครบระยะเก็บเกี่ยว > ดูแลรดน้ำให้ดินพอชุ่ม แต่ต้องระวังอย่าให้ดินแฉะเกินไป
เพียงเท่านี้เราก็จะมีผักออแกนิคปลอดสารพิษเอาไว้กินกันยาว ๆ เลย เหมือนเป็นการลงทุนครั้งเดียวในการ เตรียมพร้อม แต่ได้ผลดีในระยะยาว ทั้งสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงประหยัดเงินในการซื้อผักไปด้วย นอกจากนี้แปลงผักสีเขียวสดใสก็สามารถช่วยเพิ่มความสดชื่นในบ้านได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
hsri.or.th, kcfresh.com, urban-farming.co.th, baanlaesuan.com, pirapan.wordpress.com, baanrakdin.com