ทำไม ‘กินนมแล้วท้องเสีย’ ? อันตรายไหม พร้อมวิธีแก้ไข

          นมเป็นเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ทั้งบำรุงกระดูกและฟัน ทำให้ตัวสูงขึ้น มีภูมิต้านทานโรค และอื่น ๆ อีกมากมาย คงน่าเสียดายน่าดูหากเราไม่สามารถดื่มนมได้ แล้วยังน่ากังวลอีกว่าสุขภาพเรามีปัญหาหรือไม่ ทำไม กินนมแล้วท้องเสีย ตลอดกันนะ ? วันนี้เราจะช่วยไขข้อข้องใจ พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขให้ค่ะ

 

สาเหตุที่ กินนมแล้วท้องเสีย

          อาการกินนมแล้วท้องเสียพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุสำคัญคือร่างกายผลิตเอนไซม์ไม่เพียงพอต่อการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม หรือที่เรียกว่าภาวะแพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) นั้นเอง ซึ่งจะพบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น เพราะตามธรรมชาติแล้วร่างกายจะผลิตเอนไซม์ย่อยนมได้จนถึงประมาณ 5 ขวบเท่านั้น แล้วประประสิทธิภาพการย่อยนมก็จะลดลง ซึ่งจะลดมาก-น้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคนค่ะ อีกทั้งยังมักพบในคนเอเชียอีกด้วยค่ะ

          การที่เราท้องเสียก็เป็นเพราะร่างกายทิ้งน้ำตาลแลคโตสไว้ในระบบทางเดินอาหาร จุลินทรีย์จึงเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดและแก๊ส จนทำให้เกิดอาการท้องเสียค่ะ

สาเหตุที่ กินนมแล้วท้องเสีย

 

ท้องเสียไม่ได้หมายความว่าแพ้นม

          หลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าเมื่อดื่มนมแล้วเกิดอาการท้องเสียเป็นเพราะแพ้นม ซึ่งที่จริงแล้วสาเหตุและอาการต่างกัน

การแพ้นม 

          เกิดจากร่างกายแพ้โปรตีนบางชนิดในนม จนส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าแพ้น้ำตาลแลคโตสมาก เช่น ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

แพ้นม

 

กินนมแล้วท้องเสีย อันตรายไหม ?

          ต้องบอกก่อนว่าอาการแพ้น้ำตาลแลคโตสนั้น พบเจอได้มากโดยเฉพาะในชาวเอเชีย โดยพบกว่า 70 – 75% ของประชากรทั่วโลก การดื่มนมแล้วท้องเสียจึงไม่ได้เป็นอันตรายค่ะ แต่จะทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว เช่น

  • ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร
  • แน่นท้อง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลว

 

วิธีแก้ไขอาการท้องเสียตอนดื่มนม

          แม้การดื่มนมแล้วท้องเสียจะไม่ได้เป็นอันตรายจนน่าเป็นห่วง แต่หากไม่สามารถดื่มนมได้ ร่างกายคงขาดสารอาหารสำคัญไป วันนี้เรามีวิธีแก้ไขมาเสนอเป็นตัวเลือกให้ลองทำกันค่ะ

1. ค่อย ๆ ดื่มนมทีละน้อย

          เป็นวิธีที่ช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวโดยการดื่มนมทีละน้อยจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตส และหากดื่มแล้วไม่ท้องเสียก็สามารถเพิ่มปริมาณได้เรื่อย ๆ ค่ะ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่างนะคะ เพราะจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารเยอะมากขึ้นค่ะ

วิธีแก้ไข ดื่มนมแล้วท้องเสีย

 

2. กินอาหารที่มีแลคโตสปริมาณน้อย

          เป็นการฝึกร่างกายให้ปรับตัวและให้สามารถย่อยแลคโตสได้มากขึ้น อาหารที่มีแลคโตสน้อย เช่น ชีส นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ก็จะช่วยลดปัญหาดื่มนมแล้วท้องเสียในอนาคตได้ค่ะ

วิธีแก้ไข ดื่มนมแล้วท้องเสีย

 

3. กินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง

          สำหรับผู้ที่ดื่มนมแล้วมีอาการรุนแรง อาจต้องหันมากินอาหารอย่างอื่นเพื่อทดแทนสารอาหารที่ไม่ได้รับจากนมค่ะ เช่น กินอาหารคลีน ไข่แดง เต้าหู้ ปลาแซลมอน ตับ หรือเลือกกินอาหารวีแกนที่หลากหลายก็จะช่วยไม่ให้ขาดสารอาหาร ทั้งยังสุขภาพดีอีกด้วยค่ะ

อาหารแคลเซียม และ วิตามินดีสูง

 

4. ดื่มนมที่ปราศจากแลคโตส

          ผลิตภัณฑ์นมในปัจจุบันมีทางเลือกเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือนมที่ปราศจากแลคโตส (Lactose Free) ซึ่งผ่านกระบวนการจนทำให้แลคโตสถูกย่อยไปหมดแล้ว แต่ยังคงมีสารอาหารครบถ้วนค่ะ

นมที่ปราศจากแลคโตส

 

5. ดื่มนมจากพืช

น้ำตาลแลคโตสมีอยู่ในนมที่มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทางเลือกสำหรับคนกินนมแล้วท้องเสียที่ดีมากอีกอย่างคือ การดื่มนมจากพืชหรือ Plant-Based Milk เพราะนอกจากจะไม่มีแลคโตสแล้ว ยังได้ประโยชน์ครบ มีกากใยสูงและแคลอรีต่ำ

นมจากพืช

 

6. ดื่มนมหลังมื้ออาหาร

การกินนมหลังมื้ออาหารจะช่วยลดอาการท้องเสียได้ เพราะเป็นการลดแก๊สในกระเพาะอาหาร ดังนั้น จึงไม่ควรดื่มนมขณะท้องว่าง หรือดื่มมากเกินไปจนแน่นท้องเด็ดขาดหากไม่อยากท้องเสียค่ะ

กินนมแล้วท้องเสีย

         

ท้องเสียแก้ไขเร่งด่วนอย่างไรดี ?

หากเผลอดื่มนมตอนท้องว่างหรือดื่มปริมาณเยอะเกินไปแล้วท้องเสีย จะแก้ไขอย่างไรให้ทันท่วงที เรามีวิธีน่าสนใจให้ทุกคนได้ลองทำกัน

          1. ดื่มผงเกลือแร่ ORS

เนื่องจากเราต้องทดแทนน้ำที่สูญเสียไป การดื่มเกลือแร่จึงเป็นการเติมน้ำที่หลายคนแนะนำ (ต้องระวังอย่าดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เพราะอาจทำให้ท้องเสียหนักกว่าเดิมค่ะ) ผงเกลือแร่ ORS สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป ขั้นตอนง่าย ๆ เพียงแค่ผสมน้ำที่สะอาดหรือผ่านการต้มสุกแล้วกับผงเกลือแร่ ORS แล้วค่อย ๆ จิบไปเรื่อย ๆ ค่ะ

          2. กินยาผงถ่าน

เป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขอาการท้องเสียชั่วคราว เพราะยาผงถ่านจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียให้หยุดถ่ายชั่วขณะ สามารถกินยาซ้ำได้หากไม่ดีขึ้น แต่ไม่ควรกินเกินวันละ 16 เม็ดค่ะ

          3. หยุดกินอาหารที่กระตุ้นการท้องเสีย

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง นอกจากอาหารประเภทนมแล้วยังมีอย่างอื่นอีก คือ อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เพราะจะมีผลต่อท้องของเราค่ะ, หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ที่มีไขมัน อาหารทะเล และพักการกินผักผลไม้ไปก่อนเช่นกัน

ถ้าอย่างนั้นควรกินอะไรดี ? อาหารที่ควรกินขณะอยู่ระหว่างอาการท้องเสียคือ อาหารรสอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือเป็นอาหารไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อปลา

 

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนกระจ่างกับข้อสงสัยที่ว่า ทำไม ‘กินนมแล้วท้องเสีย’ พร้อมวิธีแก้ปัญหาที่ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ ค่อย ๆ ให้ร่างกายปรับตัวไปกับการย่อยน้ำตาลแลคโตส แล้ววันข้างหน้าเราจะได้ดื่มนมโดยไม่ท้องเสีย แถมได้ทั้งประโยชน์และความอร่อยอีกด้วยนะคะ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

pptvhd36.com, fascino.co.th, sanook.com, trueplookpanya.com, sanook.com

Press ESC to close