รีวิวหนังสือ ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’ อ่านแล้วได้อะไรมากกว่าความสนุก

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ ‘แม่มดน้อยกิกิ’ ที่เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิของญี่ปุ่น และได้เจอความน่ารักของ ‘กิกิ’ แม่มดน้อยวัยใส พร้อม ‘จิจิ’ แมวดำคู่หูกันไปบ้างแล้ว แต่รู้ไหมว่าภาพยนตร์นี้ถูกสร้างมาจากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังอีกทีหนึ่งนะ วันนี้เราเลยขอพาทุกคนไปสำรวจโลกแห่งตัวอักษรใน รีวิวหนังสือ ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’ อ่านแล้วได้อะไรมากกว่าความสนุก !

 

มารู้จัก ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’ ตอนไปรษณีย์ด่วนแม่มด

หนังสือชุด ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’ มีทั้งหมด 6 เล่ม เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกิกิตั้งแต่อายุ 13 ปี ไปจนถึง 35 ปีเลยค่ะ ซึ่งเวอร์ชันแปลไทยกำลังทยอยตีพิมพ์ออกมาให้ติดตามกันค่ะ 

แม่มดกิกิ ผจญภัย

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ : แม่มดกิกิผจญภัย ตอน ไปรษณีย์ด่วนแม่มด (เล่ม 1)

ชื่อภาษาอังกฤษ : KIKI’s Delivery Service

ผู้เขียน : เอโกะ คาโดโนะ

ผู้วาดภาพประกอบ : อาคิโกะ ฮายาชิ

ผู้แปล : ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม

หมวดหมู่ : วรรณกรรมเยาวชน

สำนักพิมพ์ : Bibli

 

รีวิวหนังสือ ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’

แม่มดน้อยกิกิวัย 13 ปีที่ต้องออกจากอ้อมอกพ่อแม่ไปหาที่อยู่อาศัยด้วยตัวคนเดียวตามธรรมเนียมเก่าแก่ของผู้สืบเชื้อสายแม่มด เป็นเวลา 1 ปี ยังดีที่มีจิจิ แมวดำคู่หูเดินทางไปด้วยกัน ทั้งคู่เลือกปักหลักที่เมืองติดทะเลชื่อโคริโกะ และได้พบกับคุณโอโซโนะแห่งร้านขนมปัง เพราะกิกิได้ช่วยนำจุกนมทารกไปคืนให้กับลูกค้าจนคุณโอโซโนะรู้สึกซาบซึ้งใจจนเสนอให้พักอยู่ด้วยกัน และจากการช่วยส่งของคืนลูกค้าทำให้กิกิตัดสินใจเลือกทำอาชีพส่งของเพราะเธอชอบการบินที่สุด

แม่มดกิกิ ผจญภัย

การทำภารกิจส่งของด่วนของกิกิสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กิกิ เพราะไม่เพียงส่งมอบสิ่งของ แต่ยังได้ส่งมอบความสุขอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กิกิก็ได้เผชิญปัญหามากมาย แต่คราวนี้กิกิต้องเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ

เรื่องนี้บอกเล่าทางเดินและเส้นทางดำเนินชีวิตของเด็กหญิงตัวน้อย ที่อ่านแล้วจะอบอวลไปด้วยความรู้สึกต่าง ๆ ทั้งอบอุ่นหัวใจ เปล่าเปลี่ยว สับสน ขบขัน ฯลฯ มาเป็นกำลังใจให้กิกิก้าวผ่านปัญหาและค้นพบตัวเองในที่สุดด้วยกันนะคะ

 

‘แม่มดกิกิ’ ในเวอร์ชันหนังสือ ต่างจากใน Animation หรือไม่ ?

ทั้ง 2 เวอร์ชัน ไม่ว่าจะแบบหนังสือหรือแบบภาพยนตร์ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม  แม้เส้นเรื่องหลักของแม่มดน้อยกิกิจะเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็มีความแตกต่างกันบางส่วน ซึ่งสร้างความสนุกคนละแบบ จะมีตรงไหนเหมือน/ต่างกันบ้างนั้น ตามมาดูกันค่ะ

ฉบับภาพยนตร์

ภาพยนตร์แอนิเมชันผลงานของฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) แห่งสตูดิโอจิบลิ เล่าถึงเรื่องราวการออกเดินทางของกิกิ เด็กหญิงวัย 13 ปี ที่กระตือรือร้นต่อการออกเดินทางครั้งนี้ พร้อมวาดฝันไว้ว่าจะได้เจอเรื่องราวดี ๆ แม้เธอจะเลือกปักหลักที่เมืองใหญ่ติดทะเลที่ดูสดใสแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นอย่างที่คิด อีกทั้งชีวิตของเธอยังเผชิญอุปสรรคที่พัดผ่านเข้ามา

แม่มดน้อยกิกิ

          กิกิกับสิ่งที่เผชิญ

     1. กิกิออกค้นหาตัวตน

เป็นธรรมดาที่เมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในดินแดนกว้าง กิกิได้เจอแม่มดจากเมืองอื่นที่มีความสามารถในการดูดวง ทำให้กิกิต้องหันมาสำรวจตัวเองว่ามีทักษะด้านไหนหรือเก่งเรื่องอะไร จนเธอตัดสินใจใช้ ทักษะการบินบนไม้กวาดส่งของ เพราะเป็นสิ่งที่แม่มดตัวน้อย ๆ อย่างเธอทำได้ดีที่สุด

แม่มดน้อยกิกิ

     2. ความรู้สึกกลายเป็นคนนอก

กิกิออกมาเจอสังคมใหม่ ๆ ที่ไม่เหมือนที่บ้านเกิดเธอ ถึงแม้จะสามารถผูกมิตรกับ ‘ทมโบะ’ เด็กชายผู้ชื่นชอบการบินได้แล้ว แต่เมื่อได้เจอกับกลุ่มเพื่อนของทมโบะ มันทำให้กิกิรู้สึกสับสนและไม่เข้าพวก เพราะกิกิรู้สึกว่าถูกมองอย่างดูถูก แต่งชุดสีดำตลอดเวลา แถมยังเป็นเด็กส่งของอีก ซึ่งต่างจากเพื่อน ๆ ของทมโบะมากทีเดียว

แม่มดน้อยกิกิ

    3. กิกิสูญเสียพลังแม่มด

ปัญหาครั้งใหญ่ของกิกิคือ การสูญเสียพลังแม่มด เพราะกิกิเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่สามารถบินบนไม้กวาด แถมยังสื่อสารกับจิจิ แมวดำเพื่อนรักไม่ได้อีก การใช้พลังแม่มดไม่ได้ก็เท่ากับว่ากิกิสูญเสียทุกอย่างไป ไม่สามารถเป็นแม่มดฝึกหัดได้อีก 

แม่มดน้อยกิกิ

    4. แรงบันดาลใจผลักดันไปสู่ความสำเร็จ

กิกิที่ต้องเผชิญความเศร้าซึมจากการสูญเสียพลังแม่มด แต่จิตรกรสาวที่เป็นเหมือนเพื่อนของกิกิก็ได้ให้กำลังว่าแรงบันดาลใจคือสิ่งสำคัญ ดังนั้น เมื่อคราวที่ต้องไปช่วยทมโบะที่ติดไปกับเรือเหาะจิตวิญญาณเสรี ทำให้เธอสามารถดึงพลังแม่มดและบินได้ด้วยไม้กวาดธรรมดา (แม้จะทุลักทุเลก็ตาม) ความสำเร็จนี้เกิดจากการที่กิกิมีแรงใจเต็มเปี่ยมที่จะช่วยเพื่อน

แม่มดน้อยกิกิ

 

 

ฉบับหนังสือ

เหมือนกับในฉบับภาพยนตร์แอนิเมชันคือ กิกิเลือกออกเดินทางตอนอายุ 13 ปี และได้อาศัยกับคุณโอโซโนะในเมืองโคริโกะ ถึงแม้กิกิจะไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในช่วงแรก แต่เธอก็ได้ช่วยเหลือชาวเมืองมากมายตั้งแต่เด็กน้อย – ผู้สูงวัย จนเป็นที่รู้กันว่าเมืองนี้มีแม่มดน้อยที่ช่วยส่งของเร่งด่วนได้เสมอ อีกทั้งหลาย ๆ คนก็ตื่นเต้นที่เจอกิกิตัวจริง

 

สิ่งที่แตกต่างจากในภาพยนตร์คือ กิกิจะรับค่าตอบแทนเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ แทน เช่น บางทีเธอก็ได้ค่าตอบแทนเป็นการเย็บขอบกระโปรง หรือ ได้รับเป็นคำแนะนำจากเด็กหญิงวัยไล่ ๆ กัน หรือได้ค่าตอบแทนเป็นการสอนถักไหมพรมจากคุณยาย

 

เรายังได้เห็นความซนของทั้งกิกิและจิจิที่ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอมากนักผ่านเรื่องราวสั้น ๆ ที่ในหนังสือจะแบ่งออกเป็นแต่ละภารกิจ เช่น ในครั้งที่กิกิต้องนำส่งตุ๊กตาแมวดำที่เหมือนจิจิเปี๊ยบ ! แต่จิจิซนเพราะอยากเข้าไปในกรงบ้าง ทำให้กิกิสูญเสียการบังคับไม้กวาดจนร่วงลงป่า เป็นเหตุให้จิจิต้องทำหน้าที่แทนตุ๊กตาแมวดำที่หายไป หรือตอนที่กิกิแอบแกะจดหมายของลูกค้าอ่านจนเกิดเรื่อง ! (แต่จะเกิดอะไรขึ้นต้องไปตามอ่านกันนะคะ)

 

แอบกระซิบว่าในหนังสือจิจิยังไม่ได้พบกับลิลลี่ แมวสาวสุดสวยนะ อันนี้ก็ต้องลุ้นกันว่าในเล่มต่อ ๆ ไปจะมีเรื่องความรักของจิจิ รวมถึงกิกิด้วยหรือเปล่า เอาใจช่วยทั้งคู่อยู่นะ !

แมวจิจิขอขอบคุณรูปภาพจาก twitter.com

 

 

สิ่งที่ซ่อนอยู่ใน ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’

เมื่อพูดถึง ‘แม่มดน้อยกิกิ ผจญภัย’ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชน บางคนอาจมองว่ามีเนื้อหาเบาสมอง เนื้อเรื่องที่ไม่หวือหวา แต่หากมองลึก ๆ ลงไปแล้ว เราจะเจอข้อคิดในประเด็นต่าง ๆ ที่สอดแทรกในเนื้อหา

แม่มดกิกิ ผจญภัย

     1. การเลือกทางเดินชีวิตเอง

ลูกสาวที่เกิดในครอบครัวแม่มดนั้น เมื่ออายุ 10 ขวบสามารถเลือกเองได้ว่าจะเป็นแม่มดหรือเป็นเด็กหญิงธรรมดา ซึ่งแม่ของกิกิหรือคุณโคกิริดีใจที่กิกิเลือกเป็นแม่มดเพราะสายเลือด แต่กิกิแย้งว่าเป็นเพราะ ‘เธอเลือกทางเดินชีวิตตัวเอง’ ด้วยต่างหาก นับว่ากิกิเองก็กล้าหาญที่จะไปใช้ชีวิตเพียงลำพังนะ

ขอแชร์ Quote ที่เราชื่นชอบและสื่อถึงความคิดของกิกิได้ดี

“จะเลือกทำตัวเป็นคนปกติ

แล้วใช้ชีวิตในเมืองนี้ต่อไปก็ได้

หรือต่อให้ไม่ทำแบบนั้น

ก็ใช่ว่าจะกลับบ้านไม่ได้สักหน่อย

ถ้าทนขายหน้าไหวละก็นะ…

แต่ทำแบบนั้น

ก็ไม่ต่างอะไรจากหนอนปลอก

ได้แต่โผล่หัวออกมา

นิด ๆ หน่อย ๆ ไปตลอดชีวิต

ขอโทษนะ เจ้าหนอนปลอก

ฉันไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น”

 

     2. มิตรภาพของเพื่อน

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่าความซนของกิกิและจิจิทำให้เรื่องราววุ่นวายขึ้น แต่ก็เป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อย เป็นมิติที่เห็นได้ทั้งในโลกแฟนตาซีและโลกความจริงเลยนะ จะเห็นได้เลยว่าแม้ทั้งคู่จะเจอปัญหา มีบ่นกันบ้าง แต่ก็ไม่เคยทิ้งกันเลย แถมยังให้กำลังใจไม่ขาดอีกด้วย เป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใจดีจัง

     3. เผชิญปัญหาและหาทางแก้ไข

ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากกิกิ/จิจิ หรือจะเกิดขึ้นจากคนอื่นก็ตาม กิกิจะคอยใช้พลังแม่มดและความคิดช่วยเหลือทุกคน เป็นการแก้ปัญหาสไตล์ของเด็กหญิงที่ไม่เลวเลยนะ กิกิและจิจิเองก็เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

     4. ความเอื้ออาทร

คนที่เข้ามาใช้บริการไปรษณีย์ด่วนของแม่มดน้อยนี้ มีคนหลายช่วงวัย ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นผู้สูงวัย แม้จะไม่ฉับไวแต่กิกิก็ไม่เคยบ่นเลย มีแต่จะให้ความช่วยเหลือเต็มกำลังของตน อีกทั้งแม้จะเป็นงานที่ยากลำบาก แต่เราก็จะได้เห็นความใจดีของกิกิเสมอเลยค่ะ

     5. การฟื้นฟูสภาพจิตใจ

ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในช่วงแรก หรือการต้องออกจากอ้อมอกคนคุ้นเคย การไม่มั่นใจว่าตัวเองพัฒนาแล้วหรือไม่ กิกิสามารถข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้ จิตใจแข็งแกร่งขึ้นแล้วนะ !

     6. การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (Coming of Age)

แก่นเรื่องหลักคือ การออกเดินทางมาเป็นแม่มดฝึกหัด แน่นอนว่ากิกิจะต้องใช้ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่เคียงข้าง สำหรับเด็กวัย 13 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กิกิเองก็คิดถึงพ่อแม่ เฝ้อรอวันกลับบ้าน แถมยังต้องเผชิญหน้ากับภารกิจที่หลั่งไหลเข้ามา แต่พอได้กลับบ้านไปหาพ่อแม่จริง ๆ กิกิก็อยู่ได้ไม่นานเพราะห่วงชาวเมืองว่าหากไม่มีตนเองแล้ว ก็จะไม่มีใครช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กิกิเองก็รู้จักหน้าที่แล้วสินะ การเป็นผู้ใหญ่นี่ไม่ง่ายเลยจริง ๆ

ในตอนท้ายกิกิเข้าสู่การเริ่มต้นเป็นแม่มดน้อยเต็มตัว แต่เราก็ยังคงติดตามกิกิและจิจิเพื่อดูการเติบโตที่ไม่สิ้นสุดของพวกเขาทั้งคู่กันค่ะ

แม่มดกิกิ ผจญภัยกิกิและจิจิที่เตรียมออกเดินทาง

 

‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’ สะท้อนอะไรในสังคม

กิกิเปรียบเหมือนวัยรุ่นที่กำลังเปลี่ยนผ่านช่วงวัยไปเป็นผู้ใหญ่ (Coming of Age) ในโลกปัจจุบัน การเดินทางไปเป็นแม่มดฝึกหัดของกิกิก็เหมือนการที่เราต้องเข้าสู่โลกที่กว้างใหญ่ อาจจะเป็นโลกของการทำงานที่ทำให้อดไม่ได้ที่จะกังวลไปถึงเรื่องต่าง ๆ 

เรามองว่าภารกิจที่กิกิได้รับก็เป็นดั่งปัญหาที่เราต้องแก้ไขและตัดสินใจด้วยตัวเอง  รวมถึงภาวะที่เรากังวลถึงการเข้าสังคมใหม่ ๆ โดยไม่มีเพื่อนฝูงหรือคนคุ้นเคยรอบข้างอีกต่อไปแล้ว เราจะต้องรับผิดชอบตนเองให้ได้ 

ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การค้นหาสิ่งที่เราชอบ คำถามยอดฮิตของวัยรุ่น (รวมถึงผู้ใหญ่เองก็ด้วย) ว่าเราเก่งด้านไหนกันแน่ ? ความชอบของเราคืออะไร ? และเราทำสิ่งไหนได้ดีที่สุดกันนะ ? สร้างความสับสนและกังวลต่อเรามากทีเดียว

แต่สุดท้ายแล้ว เราเชื่อว่าทุกคนก็จะหาทางออกและเติบโตไปในทางที่ต้องการได้ แม้ทางนั้นไม่ได้เป็นทางราบเรียบ แต่เมื่อเราผ่านไปได้ มุมมองชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไป รู้ตัวอีกทีเราก็กลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว จงภูมิใจกับตัวเองเถอะนะ ! กิกิเมื่อเดินทางออกจากบ้านอีกครั้งในช่วงท้ายก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดแบบจะเป็นจะตายอีกต่อไปแล้ว เข้มแข็งขึ้นมากทีเดียว

 

ไม่แปลกเลยที่กิกิจะเป็นเหมือนตัวแทนของวัยรุ่นผู้ยังค้นหาตัวตนของตัวเอง ทั้งยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่เข้าหาไม่หยุด แต่สุดท้ายเราก็จะค่อย ๆ ข้ามผ่านไปสู่วันข้างหน้าได้

 

วรรณกรรมเยาวชนที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี

วรรณกรรมเยาวชนไม่ว่าจะอยู่วัยไหนก็อ่านได้นะคะ เหมือนที่วอลต์ ดิสนีย์ ผู้ก่อตั้ง Disneyland เคยกล่าวว่า ‘ไม่ว่าจะ 6 ขวบหรือ 60 ปี ทุกคนก็ล้วนมีความเป็นเด็กในตัวทั้งสิ้น’ ซึ่งเรื่องราวของแม่มดกิกิก็เป็นเช่นนั้น จะให้เด็กเล็กอ่านก็เป็นการเพิ่มจินตนาการ ให้ผู้ใหญ่อ่านก็เหมือนได้ย้อนวัยไปสมัยวัยรุ่น ช่วงที่เราเริ่มยืนด้วยตัวเอง ช่วงที่เราห่างออกจากพ่อแม่ครั้งแรก ช่วงที่เราต้องเจอปัญหาไม่หยุด อีกทั้งอ่านแล้วยังจรรโลงใจกับความน่ารักสมวัยของกิกิและจิจิ ลองหยิบมาอ่านแล้วสนุกไปกับเรื่องราวกันเถอะ !

 

สรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ ‘แม่มดกิกิ ผจญภัย’ วรรณกรรมน้ำดีส่งตรงจากญี่ปุ่น หวังว่าการ รีวิวหนังสือ ครั้งนี้จะทำให้ทุกคนได้รู้จักแม่มดน้อยกิกิได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนะคะ หากมีมุมมองไหนที่อยากแบ่งปันก็สามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนได้เสมอนะคะ 

 

แม่มดกิกิ ผจญภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

google.co.th

 

Press ESC to close