Cyber Security คือ ? รู้ทันภัยอันตรายในโลกไซเบอร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกยุคดิจิทัลนี้ไม่ได้มีเพียงการโจรกรรมแบบซึ่งหน้าเพียงอย่างเดียว แต่อันตรายสามารถเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงยิ่งกว่าการโจรกรรมแบบเดิมด้วยซ้ำ จึงจำเป็นที่ต้องรู้ว่า ‘Cyber Security คือ อะไร ? และมีความสำคัญอย่างไรกันค่ะ

 

Cyber Security คือ ?

          Cyber Security หมายถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของโปรแกรม ข้อมูล หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ขององค์กรหรือบริษัท จากการโจมตีของผู้ประสงค์ร้ายหรือแฮกเกอร์ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมหาศาล เพราะข้อมูลสำคัญอย่างทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่เป็นความลับอื่น ๆ ถูกเปลี่ยนรูปแบบจากเป็นกระดาษ มาเป็นข้อมูลอิเล็กทรกนิกส์แทบทั้งหมดแล้ว หากโดนโจมตี ข้อมูลก็อาจถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมายหรืออาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะได้ค่ะ

 

Cyber Security สำคัญอย่างไร ?

ทำไม Cyber security สำคัญ

          เมื่อทราบแล้วว่า Cyber Security คืออะไร ก็มาที่ความสำคัญของ Cyber Security ที่มีต่อทั้งบุคคลทั่วไปและองค์กร/บริษัท เพราะปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นความลับและมีความสำคัญมากนั้นถูกเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัล อีกทั้งยังเชื่อมโยงข้อมูลไว้ในหลายอุปกรณ์ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและอื่น ๆ เสี่ยงต่อการถูกโจมตีและถูกควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมดโดยผู้ประสงค์ร้าย

          ในภาคธุรกิจเองก็ต้องให้ความสนใจต่อ Cyber Security เช่นกัน เพราะเป็นหน่วยกลางในการถือครองข้อมูลมากมาย ทั้งของผู้ใช้บริการและของทางบริษัทเอง หากไม่มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เมื่อถูกบุกรุกแน่นอนว่าต้องเกิดความเสียหายรุนแรง ทั้งเสียทรัพย์สินและความน่าเชื่อถือของธุรกิจค่ะ

 

5 ประเภทของ Cyber Security

ประเภทของ cyber security

 

     1. Network Security

เป็นการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายในคอมพิวเตอร์จากแฮกเกอร์ อย่างเช่น มีโครงสร้างการเข้าสู่ระบบและมีรหัสผ่านที่ซับซ้อน ทำให้โจมตีได้ยากยิ่งขึ้น

 

      2. Application Security

เป็นการรักษาความปลอดภัยในแอปพลิเคชัน โดยจะมีการอัปเดตและทดสอบระบบอยู่เป็นประจำ เพื่อลดช่องว่างในการโจมตี

 

     3. Information and Data Security

ทั้งในเครือข่ายและแอปพลิเคชันต่างก็เต็มไปด้วยข้อมูล จึงต้องมีการป้องกันข้อมูลรั่วไหลตั้งแต่ตอนได้รับ เก็บ และใช้ข้อมูล

 

     4. Cloud Security

รักษาความปลอดภัยของข้อมูลจำนวนมากในรูปแบบดิจิทัลหรือคลาวด์ มีการปรับปรุงพัฒนาเสมอ ๆ เพื่อป้องกันภัยคุกคามรูปแบบต่าง ๆ

 

     5. Internet of Things Security 

ผู้ใช้งานมักใช้บัญชีเดียวกันในหลายอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ หากถูกโจมตี แฮกเกอร์จะเข้ายึดอุปกรณ์เราได้ทั้งหมด จึงต้องมีการพัฒนาความปลอดภัยในส่วนนี้เช่นกัน

 

 

ภัยคุกคามที่เกิดในโลกออนไลน์

เพราะการโจมตีในโลกออนไลน์มีความอันตรายมากดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปควรระวังและป้องกันการถูกรุกล้ำทางข้อมูล โดยการโจมตีบนโลกออนไลน์ที่พบเจอได้บ่อยมี 4 ประเภท

ภัยคุกคามในโลกออนไลน์

 

     1. Malware

          มัลแวร์ เป็นรูปแบบหนึ่งของซอฟต์แวร์แต่เป็นอันตราย โดยมักจะมาในรูปแบบไวรัสที่แฝงมากับพวกลิงก์ไฟล์เอกสารหรือการดาวน์โหลดก็เป็นช่องทางที่ทำให้มัลแวร์เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมัลแวร์จะไปทำลายข้อมูล รวมทั้งระบบการทำงาน ทำให้เกิดความเสียหายได้ค่ะ

 

     2. Phishing

          เป็นช่องทางที่เหล่าผู้ไม่หวังดีใช้เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ การฟิชชิงเป็นการหลอกล่อให้ผู้ใช้งานกดเข้าลิงก์ กดดาวน์โหลด กรอกข้อมูล โดยส่วนมากจะส่งมาทางอีเมล เช่น มีข้อความส่งมาว่าคุณมีคดีฉ้อโกงพร้อมมีลิงก์ให้ตรวจสอบ เมื่อหลงกดเข้าไปในลิงก์ มัลแวร์ที่แฝงมากับลิงก์จะติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ทันที ซึ่งสามารถล้วงข้อมูลไปได้ทั้งหมด

 

     3. Denial of Service (DoS)

          เป็นการโจมตีที่มาในรูปแบบของ ‘การเข้าใช้งานที่เกินรับมือ’ คือแฮกเกอร์ได้ใช้บัญชีของคนจำนวนมากเพื่อเข้าเว็บไซต์ธุรกิจ เพื่อทำให้ระบบรับไม่ไหวเนื่องจากมีข้อมูลมากเกินไปจนระบบเกิดความผิดปกติหรือที่เรียกกันว่าเว็บล่มนั้นเอง ซึ่งแก้ไขได้ค่อนข้างยาก

 

     4. Man-in-the-Middle Attacks

          การโจมตีที่อยู่ตรงกลางระหว่างการส่งต่อข้อมูลของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เช่น เวลาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ธนาคารก็จะแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้บริการ ตรงจุดนี้ที่แฮกเกอร์อาจเข้าแฝงตัวและขโมยข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายได้ และการขโมยข้อมูลรูปแบบนี้ยังมักทำผ่านเครือข่ายไวไฟสาธารณะที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย

 

การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์

          วิธีการจัดการ Cyber Security คือ เราต้องป้องกันอันตรายจากภัยคุกคามในโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งทำได้หลากหลายวิธี เช่น

ความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

  • Anti-malware & Antivirus

ติดตั้งโปรแกรมตรวจจับมัลแวร์หรือไวรัส เพื่อไม่ให้เข้ามาทำลาย/ดึงข้อมูลที่สำคัญไป

 

  • เรียนรู้เรื่อง Cyber Security

หากเป็นบุคคลทั่วไปก็อาจเรียนรู้ได้ในอินเทอร์เน็ตหรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ส่วนภาคธุรกิจ อาจมีการจัดอบรบเพื่อให้พนักงานไม่ประมาทและรู้ทันอันตราย

 

  • ตั้งรหัสผ่านอย่างเหมาะสม

รหัสผ่านที่เหมาะสมจะมีความซับซ้อน เช่น มีทั้งตัวอักษร ตัวเลข และเครื่องหมายผสมกันอยู่ และควรเปลี่ยนรหัสบ่อย ๆ

 

  • มีการสำรองข้อมูล

เราไม่อาจรู้ได้ว่าแฮกเกอร์จะสามารถล้วงข้อมูลไปได้เมื่อไหร่ เพื่อความรอบคอบจึงควรสำรองข้อมูลสำคัญไว้ในระบบคลาวด์หรือระบบอื่น ๆ

 

          เห็นได้ชัดว่า ‘ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์’ เป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งคนทั่วไปและภาคธุรกิจ ในโลกดิจิทัลแบบนี้ต้องคอยตื่นตัวและระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการโจรกรรมข้อมูลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมาในรูปแบบใหม่ ๆ เสมอค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

th.jobsdb.com, bitdefender.co.th, ar.co.th

Press ESC to close