ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์บนคอนโด จะเริ่มยังไง มีประโยชน์แค่ไหน?

หากคุณอยากลองปลูกผักออร์แกนิคกินเอง แต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เช่น อยู่คอนโด อยู่บ้านที่พื้นที่ไม่มาก และไม่อยากลงทุนหรือลงแรงมากนัก ดังนั้น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จะตอบโจทย์ข้างต้นของคุณได้ทุกข้อ

ไฮโดรโปนิกส์ คืออะไร

ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Hydro (น้ำ) กับ Ponos (ทำงาน) เมื่อนำมารวมกันก็จะได้ความหมายว่า “การทำงานที่เกี่ยวกับน้ำ”

 

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คืออะไร

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คือการปลูกพืชใด ๆ ก็ตามที่ใช้น้ำแทนการปลูกลงดิน โดยน้ำที่ใช้จะเป็นของเหลวในรูปแบบของสารละลายที่มีสารอาหารของพืชรวมอยู่ด้วย หรือที่เรียกกันว่า “ปุ๋ยน้ำ” ซึ่งการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์มักจะนิยมปลูกพืชแบบกินใบ และพืชที่ใช้เวลาเก็บเกี่ยวไม่นานมาก เช่น ผักกาดหอม บัตเตอร์เฮ้ด เป็นต้น ซึ่งผักชนิดนี้จะใช้เวลาเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 40 ถึง 60 วันโดยประมาณ

 

ผักไฮโดรโปนิกส์ คือผลสำเร็จจากการวิจัยร่วมกันระหว่างนักพฤกษศาสตร์ กับนักเคมี

ในปีคริสต์ศักราช 1860-1865 นักพฤกษศาสตร์นาม จูเลียส ฟอน แซคส์ (Julius von Sachs) และนักเคมีนาม วิลเฮ็ล์ม คนอป (Wilhelm Knop) ได้ร่วมกันวิจัยและปลูกผักโดยใช้สารละลายเกลือ และสารอนินทรีย์ต่าง ๆ โดยต้นไม้ต้นแรกที่ประสบความสำเร็จคือ ต้นมะเขือเทศ

 

การรับประทานผักไฮโดรโปนิกส์

ผู้คนทั่วไปนิยมรับประทานผักไฮโดรโปนิกส์ในรูปแบบของสลัด หรือการทานสด เพราะว่ามีผักหลายชนิดที่สามารถปลูกได้ด้วยวิธีนี้ ทั้งมันฝรั่ง เมล่อน สตรอว์เบอร์รี่ หอมใหญ่ ไชเท้า เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่การเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดที่นำมาปลูกด้วย

 

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กินเองจะทำให้เกิดโรคมะเร็งจริงหรือ??

การปลูกผักโฮโดรโปนิกส์ยังเป็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับสารเคมีในผักที่เกิดจากการสะสมของไนเตรท ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ก็ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าการบริโภคผักที่ผ่านกระบวนการ Hydroponics จะทำให้เกิดโรคมะเร็งเลย

 

ผักไฮโดรโปนิกส์

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทั้ง 5 ระบบ มีอะไรบ้าง

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะใช้กันอยู่ทั้งหมด 5 ระบบ คือ

 

1. DFT (Deep Flow Technic)

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบ DFT (Deep flow technic)

เป็นการปลูกพืชโดยให้รากของพืชแช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารที่มีความลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ในระบบน้ำนิ่ง

  • โดยเติมอากาศในระบบโดยใช้ปั๊มออกซิเจน
  • ปลูกได้ในภาชนะได้อย่างหลากหลาย เช่น กะละมังพลาสติก กล่องโฟม
  • หากไฟฟ้าขัดข้องพืชก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้

 

2. NFT (Nutrient Film Technic)

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยวิธี NFT

เป็นการปลูกพืชโดยรากสัมผัสกับธาตุอาหารที่ไหลเป็นฟิล์มบางประมาณ 1-3 มิลลิเมตร โดยใช้ระบบหมุนเวียนน้ำ

  • ซึ่งรากพืชจะได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ
  • เหมาะกับการปลูกพืชอายุสั้น
  • หากเกิดไฟฟ้าขัดข้องอาจทำให้พืชที่ปลูกตายได้ เพราะว่าใช้ระบบหมุนเวียนน้ำ

 

3. DFRT(Dynamic Root Floating Technic)

การปลูกผักแบบ DFRT

เป็นการปลูกพืชโดยให้รากสัมผัสกับสารอาหารในน้ำกึ่งลึก ซึ่งใช้ระบบหมุนเวียนน้ำแบบ NFT แต่ว่าน้ำจะลึกแบบ DFT แต่ว่าสามารถปรับเปลี่ยนระดับน้ำได้

  • รากพืชจะได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และตัวพืชเองก็จะได้รับสารอาหารครบถ้วน
  • เหมาะสำหรับการปลูกพืชผักในเขตประเทศไทย
  • ปรับระดับน้ำได้ตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด
  • หากระบบไฟฟ้าขัดข้องพืชจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้

 

4. NFLT (Nutrient Flow Technic)

การปลูกโดยให้สารละลายธาตุอาหารของพืชไหลผ่านรากของพืชอยู่ตลอดเวลา โดยมีความลึกของสารละลายธาตุอาหารอยู่ที่ประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ซึ่งเหมือนกับระบบ NFT แต่จะต่างกันตรงที่มีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา

 

5. FAD (Food and Drain)

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยระบบ Food and Drain

เป็นการปลูกพืชแบบน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเป็นรูปแบบการผสมผสานระหว่าง NFT และ DFT ซึ่งเป็นการปล่อยให้สารละลายธาตุอาหารของพืชท่วมภาชนะปลูกและรากพืชอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นก็ค่อย ๆ ระบายออกไป และปล่อยสารละลายธาตุอาหารของพืชเข้ามาอีกครั้ง สลับกันไปอย่างต่อเนื่อง

 

รูปแบบการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในประเทศไทย

ในประเทศไทยนั้นจะนิยมปลูกกันอยู่ 2 ระบบ คือ Nutrient Film Technique (NFT) และ Deep Flow Technique (DFT)

 

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบ NFT (Nutrient Film Technique)

คือการปลูกพืชแบบให้รากแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง โดยที่สารละลายที่เป็นแร่ธาตุและอาหารของพืชจะไหลคล้ายแผ่นฟิล์มบางที่มีความหนา ไม่เกิน 3 มิลลิเมตร อยู่ในรางปลูก ที่มีความกว้าง 5 ถึง 35 เซนติเมตร และมีความสูงอยู่ที่ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ใช้ปลูก

 

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบ DFT (Deep Flow Technique)

เรียกกันทั่วไปว่าระบบรากแช่ เพราะว่าเป็นการปลูกโดยให้รากของพืชแช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสำหรับพืชจะต้องมีระบบเติมอากาศเข้าไปในสารละลายด้วย เพื่อที่รากของพืชจะได้รับออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา โดยการปลูกผักแบบ DFT นั้นเป็นต้นกำเนิดของการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ทุกรูปแบบ

 

การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์แบบง่าย ๆ ไม่ใช้พื้นที่เยอะ

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

ใช้กล่องโฟมปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

การอยู่คอนโด ห้องเช่า หรือบ้านที่พื้นที่จำกัด ก็สามารถปลูกผักกินเองได้ เพียงใช้กล่องโฟมในการปลูก ซึ่งมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

  1. นำเมล็ดพืชที่จะปลูกมาใส่ในฟองน้ำเปียก เพื่อเพิ่มความชื้น หลังจากเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ เมล็ดจะแตกเป็นต้นกล้า
  2. เตรียมกล่องโฟมขนาด 60×60 ตารางเมตร และเจาะรูบนกล่องโฟมให้เป็นรูกว้างพอจะใส่ถ้วยปลูก
  3. เว้นระยะห่างระหว่างช่องที่เจาะ 10 เซนติเมตร (หากเป็นผักสลัดจะต้องห่าง 30 เซนติเมตร)
  4. เมื่อเจาะกล่องโฟมเสร็จแล้ว ให้เติมน้ำและปุ๋ย เพื่อทำสารละลายอาหาร
  5. นำต้นกล้ามาใส่ในถ้วยปลูก และนำถ้วยปลูกมาใส่ในรูปที่เจาะเตรียมไว้
  6. รอเวลา 30 วัน โดยสังเกตให้ระดับน้ำอยู่สูงถึงถ้วยปลูกตลอดเวลา ผักไฮโดรโปนิกส์จากกล่องโฟมก็พร้อมกินแล้ว

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ระเบียงคอนโด

วิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ระเบียงคอนโด

หากิจกรรมยาว่างทำ หรืออยากกินผักปลอดสารพิษแบบปลูกเอง การอาศัยอยู่บนคอนโดสูงก็สามารถปลูกผักกินเองได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เตรียมฟองน้ำทรงลูกบาศก์ ขนาด 1 ลูกบาศก์นิ้ว จากนั้นนำฟองน้ำมากรีดตรงกลางฟองน้ำให้เป็นเครื่องหมาย “+”  โดยระวังอย่ากรีดให้ทะลุไปอีกฝั่งของฟองน้ำ
  2. แช่ฟองน้ำไว้ในน้ำสะอาดจนอิ่มน้ำ และจากนั้นแช่ค้างไว้อีก 1 คืน
  3. นำเมล็ดที่จะปลูกมาวางตรงกลางเครื่องหมาย “+” โดยไม่ต้องกดเมล็ดลงไป
  4. หลังผ่านไป 3 วัน เราจะได้ต้นกล้า จากนั้นให้เตรียมกระบะปลูกได้เลย โดยไม่จำเป็นว่าจะใช้ทรงไหน
  5. ตัดโฟมให้เท่ากับกระบะปลูก โดยวัดจากด้านในของภาชนะ เมื่อได้ขนาดตามต้องการก็ให้ ก็ให้เจาะรูปเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 ตารางนิ้ว เพื่อใส่ฟองน้ำที่เตรียมไว้ได้พอดี ไม่หลวม
  6. เตรียมปุ๋ยน้ำ Stock A 2 มิลลิลิตร กับน้ำ 1 ลิตร คนให้เข้ากัน หลังผ่านไป 10 นาที ให้ใส่ปุ๋ย Stock B ลงไป 2 มิลลิลิตร คนให้เข้ากันก็จะได้ปุ๋ยที่พร้อมให้งาน
  7. นำโฟมที่ใส่ต้นกล้าแล้วมาวางในกระบะปลูก โดยระวังอย่าให้รากขาด เพราะต้นกล้าอาจจะตายได้
  8. วางกระบะปลูกไว้หน้าระเบียง โดยไม่ให้โดนแดดโดยตรง เพราะว่าพืชผักจะไม่ชอบแดดจัดมาก
  9. เมื่อเวลาผ่านไป 14 วัน ก็สามารถให้ปุ๋ยที่เตรียมไว้ได้แล้ว
  10. หลังจากผ่านไป 35 วัน พืชที่ปลูกไว้ก็จะโตเต็มที่ ให้เทน้ำสะอาดลงไปแทนที่ปุ๋ยน้ำ
  11. รอเวลาอีกอย่างน้อย 5 วันพืชก็จะคายปุ๋ยที่สะสมไว้ ทำให้พืชที่ปลูกมีความสะอาดปลอดภัยจากสารเคมี

 

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยวผักไฮโดรโปนิกส์คือเมื่อใด

การเก็บเกี่ยวผักไฮโดรโปนิกส์นั้นควรเก็บเกี่ยวในวันที่มีแสงแดด โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ ไนเตรทในพืชจะต่ำลง เพราะว่าหากเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีแดดจัด พืชจะนำสารชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ ทำให้พืชในช่วงเวลานี้ไนเตรทในพืชจะสูงมาก

ช่วงเวลาในการเก็บผักไฮโดรโปนิกส์ คือ

ประโยชน์ของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คืออะไร

  1. เราสามารถควบคุมการใช้แร่ธาตุอาหารของพืชได้เอง ซึ่งง่ายกว่าปลูกในดิน ที่ควบคุมแร่ธาตุอาหารได้ไม่แน่นอน
  2. ประหยัดน้ำได้มากกว่า ถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับการปลูกในดิน
  3. ไม่ต้องเตรียมพื้นที่เยอะ อยู่บ้านพื้นที่จำกัด คอนโด หรือห้องเช่าก็ทำได้
  4. ควบคุมการเกิดโรคได้ดีกว่าการปลูกในดิน
  5. ให้ผลผลิตคงที่กว่า
  6. ให้คุณภาพสูงกว่าพืชที่ปลูกจากดิน
  7. หากทำเพื่อการค้าขาย จะได้ผลตอบแทนสูงว่าพืชที่ปลูกบนดิน
  8. ประหยัดเมล็ดพันธุ์กว่า

 

สรุป

แม้ว่าผักไฮโดรโปนิกส์จะยังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องเป็นผักที่มีสารก่อมะเร็งแต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยออกมารองรับ ดังนั้นผักที่ได้มาจากวิธีการปลูกแบบนี้จึงปลอดภัย เหมาะกับผู้ที่อยากทานผักปลอดสารพิษแบบปลูกเอง หรือผู้ที่หากิจกรรมยามว่างทำ เพราะว่าวิธีการปลูกผักออแกนิคนั้นมีหลากหลายวิธี นอกจากเหนือจากความปลอดภัยก็ยังมีในเรื่องของประโยชน์ ทั้งประหยัดน้ำกว่า ควบคุมโรคได้ดีกว่า ให้ผลผลิตที่แน่นอนกว่า เป็นต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก

www.ananda.co.th/blog/thegenc/ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์/

idesignorganic.com/ปุ๋ยab/

www.thaieasyplants.com/article/1/ปลูกผักบุ้งในตะกร้า-ระบบน้ำนิ่ง-dft-รวมตอน-1-4-ฉบับสมบูรณ์

www.dtwp.co.th/blog/00%20การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์.php

http://hydroponicscool.blogspot.com/2012/05/hydroponics_330.html

https://www.agritechtomorrow.com/

https://puregreensaz.com/

www.m-group.in.th/home/

www.accenthydroponicsthailand.com

Press ESC to close